Downfall ปิดตํานานบุรุษล้างโลก
หนังภาพยนตร์เรื่องนี้เกี่ยวกับการขึ้นสู่อำนาจของ ฮิตเลอร์ คือ Hitler : The Rise of Evil มาเป็นเวลาพอสมควร คราวนี้นำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวกับจุดจบของของ ฮิตเลอร์ และยังเป็นภาพยนตร์ที่สร้างโดยชาวเยอรมันเองด้วย นั่นคือผลงานของ Der Untergang หรือในชื่อภาษาอังกฤษและไทยว่า Downfall และ ปิดตำนานบุรุษล้างโลก
หนังภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากหนังสือที่บันทึกโดย Traudl Junge อดีตเลขานุการของ ฮิตเลอร์ ซึ่งแต่ก่อน ผู้ที่ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับ ประวัติศาสตร์ สงครามโลกครั้งที่สอง ในยุโรป อาจไม่ค่อยได้รู้จักเธอกันมากนัก
หนังภาพยนตร์ เริ่มเรื่องขึ้นในปี 1942 (พ.ศ.2485) เมื่อยุงเงอะเดินทางมาพบ ฮิตเลอร์ เพื่อรับการคัดเลือกเป็นเลขานุการ จากนั้นก็กระโดดไปยังวันที่ 20 เมษายน 1945 (พ.ศ.2488) หรือประมาณ 2 ปีครึ่ง หลังจากนั้น เมื่อ กองทัพแดง จาก รัสเซีย ที่ปิดล้อม กรุงเบอร์ลิน อยู่ เริ่มให้ของขวัญวันคล้ายวันเกิด ฮิตเลอร์ ด้วยการระดมยิงปืนใหญ่อย่างหนัก เรื่องราวถัดจากนั้นเป็นเวลาประมาณ 10 วันสุดท้ายก่อนฮิตเลอร์ หรือ 17 วันสุดท้ายก่อนที่ เยอรมัน จะยอมแพ้ต่อ กองทัพแดง อันเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นภายใน บังเกอร์ หรือ กองบัญชาการใต้ดิน ที่ผู้นำเยอรมันและคณะใช้บัญชาการรบในช่วงสุดท้าย สลับกับเหตุการณ์การรบอันหนักหน่วงบนพื้นดิน ท่ามกลางตึกรามบ้านช่องที่ถูกทำลายแทบจะเหลือแต่ซากไปทั้งเมือง บรรดาบิ๊กๆ ของเยอรมันข้างกาย ฮิตเลอร์ ที่ยอมรับความเป็นจริงที่กำลังเกิดขึ้น ต่างพยายามโน้มน้าวเกลี้ยกล่อมให้ท่านผู้นำหนีไปตั้งหลัก หรือยอมจำนน แต่ ฮิตเลอร์ กลับพยายามสั่งการด้วยความหวังลมๆ แล้งๆ ว่า ให้ทหารกองนั้นกองนี้ยกกำลังมาโอบตีกองทัพข้าศึกทั้งที่แม่ทัพเหล่านั้นเอาตัวเองยังแทบไม่รอด ทำให้บรรดาบิ๊กๆ เริ่มตีตัวออกห่าง เช่น จอมพลแห่งไรช์ แฮร์มาน เกอริง แม่ทัพอากาศ และรองนายกรัฐมนตรี กดดันให้ ฮิตเลอร์ ตั้งตนเป็นผู้นำแทน อัลเบิร์ต สเปียร์ (Albert Speer) สถาปนิกคู่ใจและรัฐมนตรีสรรพาวุธ ปฏิเสธคำสั่งที่จะให้ทำลายทรัพยากรต่างๆ ของเยอรมันเพื่อไม่ให้ข้าศึกใช้ประโยชน์ ไฮน์ริช ฮิมเลอร์ หัวหน้าหน่วยเอสเอส หนีไปหากองทัพสัมพันธมิตรตะวันตกเป็นต้น เมื่อหมดหวังที่จะเอาชนะ ฮิตเลอร์ จึงฆ่าตัวตายพร้อมกับ อีวา บราวน์ ชู้รัก ในวันที่ 30 เมษายน และเยอรมันได้ยอมจำนนต่อ กองทัพแดง ในวันที่ 7 พฤษภาคม 1945 (พ.ศ.2488)
เรื่องราวที่ละเอียดกว่านี้ มีปรากฏอยู่ในวิกิพีเดียภาษาอังกฤษ ซึ่งเล่าละเอียดเป็นฉากๆ จนอยากแนะนำว่า ให้ลองชมภาพยนตร์สักรอบแล้วค่อยมาอ่านดีกว่า ไม่งั้นเสียอรรถรสหมด และจากบรรยากาศในเรื่องที่มีแต่ความหดหู่ท่ามกลางสงคราม ไม่มีการพลิกไปพลิกมาเหมือนหนังที่สร้างเอาสนุกบางเรื่อง แถมฉากที่โหด อย่างตอนที่นางเก็บเบิลฆ่าลูกตัวเองทั้งหมดก่อนฆ่าตัวตายนั้น อยากแนะนำว่าผู้ที่จะชมควรเป็นผู้ใหญ่สักนิด และสนใจในประวัติศาสตร์ตอนนี้จริงๆ
ในด้านการศึกษาประวัติศาสตร์ การเดินเรื่องที่เน้นวาระสุดท้ายของ ฮิตเลอร์ ทำให้ไม่เห็นภาพความเลวร้ายของนายคนนี้และ ลัทธินาซี อย่างต่อเนื่อง ต้องหาความรู้จากแหล่งอื่นมาปะติดปะต่อจิ๊กซอว์เอาเอง เราอาจมองว่านี่เป็นมุมมองของยุงเงอะที่ ณ เวลานั้น เธอไม่รู้สึกผิดใดๆ ในการร่วมงานกับ ฮิตเลอร์ และไม่ได้สนใจเรื่องการเมืองเลย แต่เวลาประมาณ 2 ปีครึ่งนับตั้งแต่เธอเริ่มทำงาน จึงถึงอวสาน ฮิตเลอร์ นั้น เธอได้พบเห็นอะไรบ้างล่ะ? ประวัติเธอที่ระบุในส่วน Special Feature ของ DVD และในบทความที่วิกิพีเดีย บอกว่าเดิมเธอชื่อ Gertrude Humps และแต่งงานกับนายทหารเอสเอส ชื่อ Hans-Hermann Junge ในปี 1943 และเขาได้เสียชีวิตในการรบเมื่อปี 1944 จึงน่าสังเกตว่า
ฉากที่เธอไปสมัครเป็นเลขานุการของ ฮิตเลอร์ นั้น เธอยังไม่ได้เป็น นางยุงเงอะ (Frau Junge) ตามที่เรียกในหนัง (เพิ่มเติม มี.ค.2554 ประเด็นนี้เคยมีท่านหนึ่งคอมเม้นต์ผ่านทาง Facebook มาประมาณว่า คำว่า "Frau" นี้เป็นคำเรียกสตรีทั่วๆ ไปคล้ายๆ คำว่า "คุณ" ที่ไม่จำกัดว่าจะแต่งงานหรือยัง ในหนังสือเรียนภาษาเยอรมันเล่มหนึ่งที่ผมพึ่งได้อ่านเมื่อไม่นานมานี้กล่าวว่าปัจจุบันคนเยอรมันเลิกใช้คำว่า "Fräulein" ที่เคยใช้เรียกสตรีที่ยังไม่แต่งงานกันแล้วครับ)
ตลอดเรื่องทำไมไม่มีการกล่าวถึง ฮันส์-แฮร์มันน์ ยุงเงอะ สามีของเธอเลยแม้แต่คำเดียว
ประวัติของเธอในวิกิพีเดีย ระบุว่า เธอไม่ได้ลอยนวลไปจากกองทัพแดงได้เพราะไอ้หนูปีเตอร์อย่างในหนัง แต่เธอถูกจับขังอยู่ในค่ายเชลยศึกอยู่ช่วงหนึ่งด้วย
ด้านภาพลักษณ์ของ ฮิตเลอร์ ในภาพยนตร์เรื่องนี้ สื่อมวลชนในเยอรมันได้วิจารณ์ในทำนองว่า ทำไมจึงได้ยอมให้จอมอสูรอย่าง ฮิตเลอร์ ปรากฏด้านดีบางอย่างเหมือนอย่างผู้คนทั่วไป เช่น ความมีอัธยาศัยกับคนใกล้ชิด อย่างนางยุงเงอะผู้เป็นเลขาฯ (ไม่ใช่เพราะความชีกอด้วย) หรือความรักเด็กๆ แต่ที่ผมดูมาตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่คิดว่าหนังเรื่องนี้จะทำให้ภาพลักษณ์ของฮิตเลอร์ที่ผมมีอยู่ดีขึ้นหรือแย่ลงตรงไหน หาก ฮิตเลอร์ มีแต่ความดุดันเกรี้ยวกราดตลอดเวลาเหมือนที่ปรากฏในหนังหลายๆ เรื่อง แล้ว จะเอามนต์เสน่ห์ที่ไหนมาหลอกคนเยอรมันเกือบทั้งประเทศได้จนวาระสุดท้าย มันจะแปลกอะไรที่ "คนเลว" คนหนึ่งจะเป็นคนดีในสายตาคนใกล้ชิด หรือการที่ ฮิตเลอร์ สั่งฆ่าคนยิวเป็นล้านๆ ได้ ซึ่งในจำนวนนี้มีเด็กด้วย ก็เพราะทฤษฏีคลั่งเชื้อชาติอารยัน จึงไม่แปลกอะไรที่ตะแกจะกลายเป็น "ลุงฮิตเลอร์" ผู้ใจดีในสายตาของหน่วยยุวชนฮิตเลอร์ หรือลูกๆ ของดร.เกิบเบิล สมุนผู้อยู่ข้างกายเขาจนถึงวาระสุดท้าย และด้านร้ายๆ ของ ฮิตเลอร์ ก็ยังปรากฏให้เห็นในภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ว่าความงี่เง่าดึงดันที่จะบัญชาการให้หน่วยนั้นหน่วยนี้ พอไม่ได้อย่างใจเพราะแต่ละหน่วยยังเอาตัวไม่รอดกลับโวยวายด่าว่าใครต่อใครวุ่นไปหมด และการสั่งทำลายทรัพยากรเยอรมันและชีวิตชาวเยอรมันที่กำลังแพ้ ก็น่าจะเป็นการให้ภาพของมนุษย์สารเลวรายนี้ได้อย่างไม่เว่อร์ไปในทางใดทางหนึ่งใช่ไหมครับ
เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผมต้องกล่าวถึง อัลเบิร์ต สเปียร์ (Albert Speer) ด้วยความยกย่อง รวมถึงความทรงจำดีๆ กับภาพยนตร์ซีรีส์เรื่อง Inside the third Reich ที่เคยดูตอนยังเด็กๆ หาก เสปียร์ ไม่ขัดคำสั่ง ฮิตเลอร์ ที่เป็นเหมือนการดึงเยอรมันทั้งหมดมาฆ่าตัวตายพร้อมกันแล้ว ประเทศเยอรมันจะยิ่งยับเยินฟื้นฟูยากขึ้นไปอีกจนอาจสิ้นชาติเลยก็ได้ ต่างกับ ดร.เกิบเบิล รัฐมนตรีกระทรวงโฆษณาการ กับ ภรรยา ที่ภักดีกับ ฮิตเลอร์ ในทางที่ผิด ด้วยการฆ่าลูกๆ และฆ่าตัวตายตาม ฮิตเลอร์ ยังโชคดีกว่านโปเลียนตรงที่วาระสุดท้ายยังมีคนที่ภักดีอยู่เคียงข้างอย่าง เกิบเบิล แต่อนาถใจจริงๆ ที่เด็กต้องมาตายด้วยความคิดโง่ๆ ของพ่อแม่ที่เห็นว่าเด็กจะไม่มีความสุขเมื่ออุดมการณ์นาซีล่มสลาย
ความน่าอนาถใจอีกอย่างคือในช่วงที่เบอร์ลินกำลังคับขันอย่างสุดขีด เจ้าพวกเอสเอสแต่งชุดเอี่ยมอ่องก็ยังวางอำนาจเป็นศาลเตี้ยยิงคนที่ตนเห็นว่า "หนีทหาร" หรือ "ทรยศ" สุดท้ายเมื่อสู้ทัพรัสเซียไม่ได้จริงๆ ไอ้พวกนี้ก็ต้องฆ่าตัวตายอย่างอัปยศ
ใครยังหลงนิยมชมชอบความเบ็ดเสร็จเด็ดขาดทางการเมือง ลองดูเรื่องนี้ประกอบกับเรื่อง Nuremberg อย่างมีสมาธิหน่อยนะครับ วาระสุดท้ายของบรรดาต้นแบบเผด็จการเหล่านี้ มีแต่ความอัปยศ แล้วยังสร้างตราบาปและความย่อยยับให้กับประเทศชาติอย่างยิ่ง
Comments
Post a Comment